Home » , , , , , , » หลักการเรียนรู้สำหรับมือใหม่

หลักการเรียนรู้สำหรับมือใหม่

หลักการเรียนรู้สำหรับมือใหม่

การเรียนรู้ที่ดีที่สุด คงจะเกิดจากการที่เราได้ลองปฏิบัติจริง แต่หากเราไม่มีพื้นฐานความรู้เลยล่ะ และไม่ได้มีผู้ที่คอยสอนชี้แนะคุณจะทำอย่างไร .. บอกเล่าและขอแบ่งปันประสบการณ์


บทความนี้ Webmaster ขอเอาประสบการณ์ตรงของตัวเองสมัยที่เริ่มทำเว็บไซต์ใหม่ ๆ มาบอกต่อกับเพื่อน ๆ ทุกคนค่ะ คิดว่าน่าจะมีประโยชน์ไม่มากก็น้อยค่ะ

ในตอนแรก ๆ นั้น Webmaster เริ่มหัดทำเว็บไซต์โดยการเขียน HTML ล้วน ๆ ก่อน หลัง ๆ จึงเริ่มใช้โปรแกรมช่วยทำเว็บ เช่น Frontpage และ Dreamweaver ซึ่งในช่วงที่เริ่มทำนั้น ก็ทำไปโดยไม่ได้มีวิธีการ หรือแนวคิดอะไรเลย เรียกว่าอยากทำก็ทำออกมาเลย ซึ่งผลก็คือได้เป็นรูปแบบโฮมเพจขึ้นมา มีใส่ข้อมูลทั้งภาพ และข้อความ แต่ดูยังไงก็ไม่สวยเหมือนเว็บอื่น ๆ

 
  

  
ช่วงหลัง ๆ เลยได้มาเริ่มคิดว่าทำยังไงหน้อ เว็บเราจะสวย ดูดีเหมือนกับเว็บอื่น ๆ บ้าง เลยเริ่มจะมาคิดว่า โฮมเพจเราไม่สวย ไม่เหมือนของเว็บอื่น ๆ ตรงไหน เว็บไซต์ที่เราคิดว่าสวย ดูดี มีเว็บไซต์ไหนบ้าง ดูดีที่ตรงไหน สวยที่ตรงไหน ก็พยายามเอาโฮมเพจของเว็บไซต์ต่าง ๆ มานั่งดู แล้วก็เลยเลือกมาหนึ่งเว็บไซต์ ซึ่งเป็นหน้าโฮมเพจที่เราชอบ และคิดว่าน่าจะทำได้

เลยเริ่มลงมือทำโฮมเพจ โดยการพยายามทำออกมาให้เหมือนกับโฮมเพจที่เราเลือกไว้ให้มากที่สุด ผลที่ออกมาก็คือ ได้หน้าโฮมเพจที่ดูสวย หน้าตาเกือบเหมือนกับโฮมเพจที่เลือกไว้ ผลจากการลอกทำหน้าโฮมเพจจากเว็บไซต์อื่น ๆ ทำให้เราสามารถทำโฮมเพจออกมาได้สวย และดูดีกว่าก่อน ๆ มาก
 
 


มาถึงขั้นนี้เพื่อน ๆ คงคิดว่า Webmaster แนะนำให้ไปลอกแบบโฮมเพจของคนอื่น ๆ มาใช้ ... จริง ๆ แล้วไม่ใช่ค่ะ Webmaster ไม่แนะนำให้เพื่อน ๆ ไปลอกแบบของเว็บไซต์อื่น ๆ มาใช้ค่ะ แต่วัตถุประสงค์ที่แท้จริงคือ ต้องการให้ลองฝึกทำค่ะ ฝึกโดยใช้วิธีการลอกเลียนแบบค่ะ เพราะการลอกเลียนเป็นวิธีการเรียนรู้รูปแบบหนึ่งค่ะ ซึ่งเหมาะกับผู้ที่เริ่มต้น (เหมือน ๆ ตอนเราเรียนอนุบาล ที่ต้องเขียน ก. ไก่ ตามเส้นปะนะค่ะ)

จากประสบการณ์ที่ Webmaster ก็เคยทำมาแล้ว สรุปว่าการลอกเลียนแบบทำให้เรียนรู้เรื่องการทำเว็บไซต์ได้ดีขึ้นค่ะ เพราะการลอกเลียนแบบทำให้เราได้ความคิด มุมมองดี ๆ ดังนี้ค่ะ

1. Layout ทำให้เรารู้จักมองว่าโฮมเพจแต่ละแห่ง มีการจัดหน้าเพจอย่างไร เช่น มองออกว่าเว็บไซต์นี้ แบ่งแบบ 4 ส่วน แบบเพจ 3 ส่วน หรือเพจ 2 ส่วน เป็นต้น (จะอธิบายในบทความต่อ ๆ ไป) และทำให้เราทราบว่า ขนาดของโฮมเพจควรมีขนาดเท่าไหร่ ซึ่งข้อดีของเรื่องนี้ก็คือ เมื่อเรารู้จักการจัด Layout จะทำให้การวางข้อมูลของเราง่ายขึ้น

2. ส่วนประกอบของโฮมเพจ ทำให้เราทราบว่าในโฮมเพจหน้าหนึ่ง ๆ นั้นควรมีอะไรบ้าง อย่างเช่น เราจะได้รู้ว่าจะต้องประกอบไปด้วย โลโก้ เมนู ข้อความ รูปภาพ เป็นต้น

3. ตำแหน่งการจัดวางข้อมูล ทำให้เราทราบว่าเราควรจะจัดว่างอะไรไว้ที่ตรงไหน เช่น โลโก้ควรอยู่ด้านบน เมนูต้องอยู่ด้านบน หรือด้านซ้าย รูปภาพที่เราจะเอามาใส่ในเว็บควรมีขนาดประมาณเท่าไหร่ จะจัดวางภาพ และข้อความอย่างไร เป็นต้น ข้อดีจากเรื่องนี้ก็คือ จะทำให้เราสามารถจัดว่างตำแหน่งของสิ่งต่าง ๆ ได้ดีขึ้น น่าอ่าน เว็บโดยรวมดูดี
 
  
 
4. สี เราจะได้ความรู้ในเรื่องการใช้สี ว่าในหน้าหนึ่ง ๆ ควรใช้สีอะไร โดยสามารถรู้ว่าหากเราใช้พื้นหลังเป็นสีนี้ ตัวหนังสือ และส่วนประกอบอื่น ๆ ควรเป็นสีอะไร และในสีของโฮมเพจนั้น ใช้สีอะไรบ้าง ซึ่งเราจะได้เป็นลักษณะกลุ่มของสี ที่มีความสมดุลย์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เว็บไซต์ดูดีขึ้น ทำให้สีของเว็บไม่ขัดกัน อ่านได้ง่าย

5. ตัวอักษรและขนาด ทำให้เราทราบว่าเว็บไซต์ส่วนใหญ่ฟ้อนต์ที่เหมาะสมกับการทำเว็บคือฟ้อนต์อะไร ควรมีขนาดเท่าไหร่เป็นต้น ซึ่งเรื่องนี้ก็ช่วยทำให้เว็บไซต์ของเราดูดี ดูเป็นมืออาชีพ ขอบอกตามตรงเลยค่ะ เรื่องนี้ทำให้เว็บเราดูดีขึ้นได้เยอะเลยค่ะ เพราะตอนแรก ๆ ที่ Webmaster เริ่มทำเว็บ ฟ้อนต์ที่ใช้ก็คือฟ้อนต์แบบเดียวกันกับที่ใช้ใน word แรก ๆ ยิ่งแล้วใหญ่เลยค่ะ เพราะไม่ได้กำหนดอะไรเลย ตัวหนังสือแสดงผลออกมาใหญ่ ตัวเท่าหม้อแกงเลยค่ะ แค่ไม่กี่บันทัด ก็เต็มหน้าสกรีนเลยค่ะ

 
  

  
สุดท้าย การที่เราได้ฝึกทำเว็บไซต์ โดยการลอกเลียน เมื่อทำไปเยอะ ๆ เราจะได้ไอเดียดี ๆ เพิ่มขึ้นค่ะ รู้สึกที่จะมองออกว่าเว็บไซต์ไหน มีอะไรดูดีที่ตรงไหน เว็บไซต์ไหนไม่ดีที่ตรงไหน และเว็บไซต์ที่เราเคยทำ แล้วคิดว่ามันดูไม่ดี มันมีข้อเสียตรงไหน จะแก้ไขยังไง ซึ่งเราสามารถเอาจุดเด่น ๆ ของเว็บต่าง ๆ มา Apply ดัดแปลง และลบข้อเสียของเว็บไซต์ของเราออกไป ซึ่งเป็นผลทำให้เราสามารถทำเว็บไซต์ออกมาใหม่ ที่เป็นเว็บไซต์ของเราเอง ซึ่งทำออกมาได้ดูดีไม่แพ้เว็บไซต์ที่เราเคยลอกเลียนอีกด้วยค่ะ

หลักการเรียนรู้ในบทความนี้ ก็เพื่อจะให้เราสามารถจำสิ่งต่าง ๆ เป็นการฝึกเพื่อทำให้เกิดความเข้าใจ เพื่อไปสู่การเรียนรู้ในระดับต่อ ๆ ไปค่ะ จริง ๆ แล้วหลักการเรียนรู้ จะมีด้วยกัน 6 ขั้นตอนค่ะ ซึ่งเป็นคำย่อ ๆ ว่า "จำใจใช้วิสังปะ" ไม่ใช้คำธรรมะที่ไหนหรอกค่ะ เป็นคำที่ย่อมาจาก คำ 6 คำ หลักการเรียนรู้ของคนเรานั้น มีด้วยกัน 6 ระดับ ดังนี้ค่ะ

1. จำ คือ ระดับของการมอง การทำซ้ำ ๆ ทำตาม เลียนแบบ
2. เข้าใจ เกิดการขึ้นตอนของการจำ เมื่อทำซ้ำ ๆ เยอะ ๆ จะเกิดความเข้าใจ เรียนรู้จากสิ่งที่ทำ จนเข้าใจ
3. นำไปใช้ เมื่อเข้าใจแล้ว สามารถนำสิ่งที่ตนเข้าใจ ไปใช้สร้างสรรค์ หรือทดลองทำสิ่งต่าง ๆ ได้ โดยอาศัยหลักการเดิม
4. วิเคราะห์ สามารถที่จะแยกแยะ ถูกผิดได้ โดยใช้การเรียนรู้จากข้อที่ 1-3 ช่วย
5. สังเคราะห์ ระดับนี้สามารถที่จะสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ขึ้นมาได้
6. ประเมินค่า รู้คุณค่าของสิ่งต่าง ๆ สามารถประเมินค่าของสิ่งต่าง ๆ ได้ ระดับนี้คือระดับของผู้รู้รอบ


การทำเว็บไซต์นั้น สามารถทำได้ทุกคน แต่การทำให้ออกมาดี อันนี้ก็ต้องอาศัยประสบการณ์และเวลาในการพัฒนาทักษะ หลักการเรียนรู้ของแต่ล่ะคน ก็อาจแตกต่างกันไปค่ะ บางคนอาจเรียนรู้ได้ไว บางคนอาจช้า หรือแต่ล่ะคนก็อาจจะต้องใช้วิธีการเรียนรู้ที่แตกต่างกันไป แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น หากเราไม่ละความพยายามไปซะก่อน ทุก ๆ คนก็สามารถพัฒนาตัวเองได้เสมอค่ะ

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Popular Posts